คำบรรยายเรื่อง” คิดเป็น “

คำบรรยายเรื่อง” คิดเป็น “


       ในการประชุมปฏิบัติการการบรรณาธิการข้อสอบวัดผลปลายภาคเรียน ที่ 1 / 2552 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551
โดย ดร.ทองอยู่  แก้วไทรฮะ ณ โรงแรมอู่ทองอินน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 24 มิถุนายน 2552


     การพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ยึดหลักปรัชญา  “คิดเป็น”  ดังนั้นการจัดทำข้อสอบต้องสะท้อนปรัชญาคิดเป็นด้วยเช่นกัน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513  เป็นต้นมา  ดร.โกวิท  และคณะ ได้นำแนวคิดเรื่อง “คิดเป็น” มาเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดการศึกษาผู้ใหญ่  เช่นได้ดำเนินโครงการการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ  โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ โครงการการศึกษาประชาชน และการศึกษาต่อเนื่อง เป็นต้น จากนั้นจึงได้มีการประยุกต์มาเป็นปรัชญาของการจัดการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย


       ปรัชญการศึกษานอกโรงเรียนเป็น ปรัชญาที่ต้องคิด ต้องนำไปปฏิบัติ จึงสรุปออกมาได้ว่า คิดเป็น  แนวคิดเรื่องการคิดเป็นอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนมีจุดรวมของความเหมือนกันคือ ทุกคนต้องการความสุข  คนเราจะมีความสุข เมื่อตัวเรา และสังคมสิ่งแวดล้อม      ผสมกลมกลืนกัน ต้องปรับตัวเข้าหากันจนเกิดความพอดี ผู้สอนจัดการเรียนการสอนต้องให้ความสำคัญกับผู้เรียน จึงจะนำไปสู่คำว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด คนที่จะทำเช่นนี้ได้ ต้องรู้จักคิด รู้จักตนเอง และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างดี จึงเรียกได้ว่าเป็นคน “คิดเป็น “


      การคิดเป็นต้องใช้ข้อมูล 3 ส่วน ข้อมูลตนเอง ข้อมูลวิชาการข้อมูลด้านสังคม ข้อมูลที่ละเอียดมาก ๆ บางครั้งเป็นข้อมูลเกินจำเป็น ข้อมูลควรต้องมีการนำมากลั่นกรองก่อน ข้อมูลจึงน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้เรียนต้องรู้วิธีการ การจัดการข้อมูล และกระบวนการจัดการข้อมูล ผู้เรียนต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล มาก่อนจึงจะนำไปสู่การประเมินเพราะฉะนั้นการประเมิน อาจนำ Key words สำคัญ ๆ ไปใช้ในการประเมินการคิดเป็น คำที่นำมาใช้ในการคิด ในการตัดสินใจ แก้ปัญหา ต้องมีวิธีการคิด การจัดการข้อมูล ที่ดี เพื่อจะได้นำข้อมูลมาใช้ การคิดเป็นต้องใช้ข้อมูล ด้านตนเอง ต้องกลั่นกรองข้อมูลมาใช้อย่างเป็นระบบ และ สามารถ  ตัดสินใจได้อย่างเชื่อมั่น น่าเชื่อถือ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการเรียนรู้ ก่อนที่จะนำมาประเมิน ระดับประถมศึกษา ควรถามความคิด ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับว่า  คนเราต่างกันแต่ทุกคนต้องการความสุข และต้องปรับตนเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม


ความเชื่อพื้นฐานของปรัชญา “คิดเป็น”
1. คนมีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ความต้องการของคนก็ไม่เหมือนกัน
2. แต่ทุกคนต้องการความสุข
3. ความสุขของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน
4. ความสุขของแต่ละคนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ มนุษย์ กับสภาวะแวดล้อมที่เป็นวิถีชีวิตของตนสามารถปรับเข้าหากันอย่างผสมกลมกลืนจนเกิดความพอดี และพอใจ
5. แต่สภาวะแวดล้อมในสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดปัญหา ก่อให้เกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ ไม่สบายกายเกิดขึ้นได้เสมอ
6. คนคิดเป็นเชื่อว่า ทุกข์ หรือปัญหาเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นได้ สามารถแก้ไขได้ ถ้ารู้จักแสวงหาข้อมูลหลายๆ ด้าน รู้จักวิเคราะห์ข้อมูล รู้จักใช้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างน้อย 3 ประการ คือข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมทางสังคมในวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม ประเพณี และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ซึ่งครอบคลุมถึงการพึ่งพาตนเอง และความพอเพียงด้วย
7. เมื่อได้พัฒนาทักษะการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล และไตร่ตรองข้อมูลอย่างรอบคอบ ทั้ง 3 ด้าน จนมีความพอใจแล้ว ก็พร้อมจะรับผิดชอบการตัดสินใจนั้นอย่างสมเหตุสมผล เกิดความพอดี  ความสมดุลระหว่างชีวิต กับธรรมชาติอย่างสันติสุข
8. อย่างไรก็ตามสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็วและรุนแรง ปัญหาก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกข์ก็เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป เปลี่ยนโฉมหน้าไปตามกาลสมัย กระบวนทัศน์ในการดับทุกข์ก็ต้องพัฒนารูปแบบ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น อยู่ตลอดเวลาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย
9. กระบวนการตอบทุกข์หรือการแก้ปัญหา จึงหมุนเวียนมาจนกว่าจะพอใจอีก เป็นเช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต


การสอนแบบคิดเป็นจึงไม่มีการสอนแบบสำเร็จรูปว่าอะไรถูก อะไรผิด ขึ้นอยู่กับบริบท และสิ่งแวดล้อม แต่ละคนจะมีบริบทไม่เหมือนกัน แต่เมื่อนำมาถกเถียงกัน  นำมาอภิปราย ถกเถียงกันจะเกิดความรู้แตกฉานยิ่งขึ้น
กระบวนการแก้ปัญหาของ การคิดเป็น
1. ขั้นสำรวจปัญหา เมื่อเกิดปัญหาย่อมต้องเกิดกระบวนการคิดแก้ปัญหา
2. ขั้นหาสาเหตุของปัญหา  เป็นการหาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นองค์ประกอบของปัญหาบ้าง
– สาเหตุจากตนเอง พื้นฐานของชีวิต ครอบครัว อาชีพ การปฏิบัติตน คุณธรรม ฯลฯ
– สาเหตุจากสังคม บุคคลที่อยู่แวดล้อม ตลอดจนความเชื่อ ประเพณี ฯลฯ
– สาเหตุจากการขาดวิชาการความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
3. ขั้นวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไขปัญหา เป็นการวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา โดยใช้ข้อมูลด้านตนเอง สังคม วิชาการ มาประกอบในการวิเคราะห์
4. ขั้นตัดสินใจ เมื่อได้ทางเลือกแล้วจึงตัดสินใจเลือกแก้ปัญหาในทางที่มีข้อมูลต่าง ๆ พร้อม
5. ขั้นตัดสินใจไปสู่การปฏิบัติ เมื่อตัดสินใจเลือกทางใดแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในข้อมูลเท่าที่มีขณะนั้น ในกาละนั้น และในเทศะนั้น
6. ขั้นปฏิบัติในการแก้ปัญหา ในขั้นนี้เป็นการประเมินผลพร้อมกันไปด้วย ถ้าผลเป็นที่
– พอใจ ก็ถือว่าพบความสุข เรียกว่า “คิดเป็น”
– ไม่พอใจ หรือผลออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่คิดไว้ หรือข้อมูลเปลี่ยนต้องเริ่มต้นกระบวนการคิดแก้ปัญหาใหม่
ลักษณะของคนคิดเป็น 8 ประการ
1. เชื่อในความแตกต่างหลากหลายของคน
2. เชื่อในลักษณะการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคมที่มีเกิด ดำรงอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา
3. เชื่อมั่นในความพอเพียง พอประมาณ พอดี และรู้จักพึ่งพาตนเอง
4. เชื่อในหลักของอริยสัจ 4
5. เชื่อว่าทุกข์หรือปัญหาใด ๆ ย่อมมีอยู่ในธรรมชาติ เป็นของธรรมดา และสามารถแก้ไขได้เสมอ
6. เชื่อมั่นว่าข้อมูลทั้งหลายเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การตัดสินใจแก้ปัญหาที่ดีต้องรู้จักใช้ รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายเพียงพอ และครอบคลุมข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเอง คือรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิชาการที่จะเป็นบ่อเกิดของปัญหา และข้อมูลที่เกี่ยวกับสังคมสิ่งแวดล้อม ธรรมเนียมประเพณี
7. เผชิญกับปัญหาอย่างรู้เท่าทัน มีสติ ไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ เมื่อตัดสินใจแล้วมีความพอใจและเต็มใจรับผิดชอบกับผลการตัดสินใจเช่นนั้น จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม หรือมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป
8. เชื่อมั่นและมั่นใจในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
กระบวนการเรียนรู้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตามปรัชญา “คิดเป็น” นี้ ผู้เรียนถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้สอนจะเป็นผู้จัดโอกาส จัดกระบวนการจัดระบบข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งจัดบรรยากาศที่เหมาะสมในการเรียนรู้ขึ้น กิจกรรมในการเรียนรู้อาจมีแนวทางดังนี้
1. กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์จากปัญหาและความต้องการของตนเองและชุมชน
2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ
3. ผู้เรียนเรียนรู้จากการอภิปราย ถกเถียงในประเด็นที่เป็นปัญหา
4. ผู้เรียนเรียนรู้จากกระบวนการกลุ่ม มีการใช้ข้อมูลหลาย ๆ ด้าน
5. ผู้เรียนเรียนรู้จากวิถีชีวิต วิถีการทำงาน วิถีชุมชน และภูมิปัญญา
6. ผู้เรียนเรียนรู้จากการทำโครงงาน การเข้าค่าย การศึกษาดูงาน
7. ผู้เรียนเรียนรู้จากการศึกษาวิจัย ศึกษากรณีตัวอย่างที่หลากหลาย
8. ผู้เรียนได้ฝึกการตัดสินใจด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ลึกซึ้งเพียงพอและเชื่อถือได้
9. ผู้เรียนรู้จักการใช้เทคนิคกระบวนการต่าง ๆ เช่น การนำเวทีชาวบ้านมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาปัญหาและคิดแก้ปัญหาของตนเองและชุมชน
10. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้จักการตัดสินใจในการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูลที่เพียงพอทั้งข้อมูลตนเอง วิชาการ และสังคมสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การปฏิบัติได้


ที่มา : http://www.nfe.go.th/0405/NFE-note/index.NFE-note.html